๑. ด้านภาษาและสำนวนโวหาร วรรณคดีเรื่องนี้มีสำนวนโวหารไพเราะ เนื้อเรื่องดี การใช้ถ้อยคำปลุกอารมณ์ผู้อ่านได้ดีทั้งอารมณ์โศก อารมณ์เคียดแค้น อารมณ์รักและอารมณ์กล้าหาญ
ผู้แต่งถือหลักว่ามนุษย์มีทั้งรัก
โลภ โกรธ หลง อยู่เป็นประจำตามวิสัยของมนุษย์ปุถุชนทั่วไป
ตัวละครจึงมีชีวิตเลือดเนื้อเจือด้วยความรัก ความโลภ ความโกรธ และความหลง ดังเช่น พระนางบุญเหลือมีความรักลูก ท้าวพิชัยพิษณุกรมีใจนักเลงไม่อาฆาตพยาบาท พระเจ้าย่ามีความเคียดแค้น เป็นต้น หนังสือลิลิตพระลอเป็นหนังสือที่มีคุณค่า ใช้ถ้อยคำไพเราะกินใจดี มีความเปรียบเทียบ
ที่คมคาย จับใจผู้อ่าน สมดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นเรื่องว่า
“ใครฟังย่อมใหลหลง ฤาอิ่ม ฟังนา” โคลงบางบทได้รับการยกย่องว่าเป็นโคลงครูมาแต่โบราณ ได้แก่โคลง “เสียงฤาเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย” การใช้ภาษามีถ้อยคำรุ่นเก่าปะปนอยู่มาก เช่นเดียวกับมหาชาติคำหลวงและลิลิตยวนพ่าย ทำให้สามารถใช้ศึกษาการใช้คำในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นได้
๒. ด้านความรู้ ลิลิตพระลอให้ความรู้ด้านต่าง
ๆ หลายประการ ได้แก่
๒.๑ ความรู้ด้านตำนานพื้นเมือง ลิลิตพระลอเป็นตำนานพื้นเมืองของไทยภาคเหนือ ฉะนั้นจึงให้ความรู้เกี่ยวกับตำนานหรือนิยายพื้นเมืองแก่ผู้อ่า น
๒.๒ ความรู้ด้านโบราณคดี ลิลิตพระลอเป็นตำนานพื้นเมืองที่เกิดขึ้นในจังหวัดแพร่และจังหวัด
ลำปาง ฉะนั้น สถานที่ของตำนานเรื่องนี้จึงอยู่ที่จังหวัดทั้งสอง สันนิษฐานกันว่าเมืองสรองคงอยู่ทางตอนเหนือของอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ส่วนเมืองสรวงคงเป็นเมืองในเขตอำเภอ
แจ้ห่ม จังหวัดลำปาง และยังให้ความรู้เกี่ยวกับชื่อสถานที่ แม่น้ำ ตลอดจนมีเจดีย์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิพระลอและพระเพื่อนพระแพง
๒.๓ ความรู้ด้านการรบ วรรณคดีเรื่องนี้ให้ความรู้เกี่ยวกับการรบและการต่อสู้สมัยโบรา ณ มีการใช้อาวุธต่าง ๆ ดังร่ายว่า “ผันเข้าคลุกรุกรบ หลบหลีกปืนบได้ดอก หลบหลีกหอกบ่ได้ต้อง เขาเร่งซ้องเป็นยะยุ่ง ซ้องหอกพุ่งยะย้าย ข้างซ้ายเร่งมาหนา เข้าทุกปลากรุกโรม สองนายโจมฟั่นเฟื่อง เครื่องพลัดตัวหัวขาด เขาก็สาดศรยึง ตรึงนายแก้วยะยัน”
๓. ด้านสังคมและวัฒนธรรม
๓.๑ การปกครอง ลิลิตพระลอแสดงให้เห็นถึงลักษณะการปกครองสมัยโบราณ เมืองทั้งหลายต่างก็เป็นอิสระต่อกัน มีเจ้าผู้ครองนคร ดังเช่นเมืองสรองและเมืองสรวง
๓.๒ ชีวิตความเป็นอยู่ ลิลิตพระลอสะท้อนให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่และสภาพสังคมสมัยนั้น เช่น การตั้งครรภ์และเลี้ยงลูก
นอกจากจะกล่าวถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงสภาพของสังคม เช่น การนับถือผี เชื่อไสยศาสตร์ มีการทำเสน่ห์ เป็นต้น ดังร่ายว่า “ผีบันดาลไฟคละคลุ้ม ให้ควันกลุ้มเวหา ด้วยแรงยาแรงมนต์”
๓.๓ ความเชื่อในศาสนา ลิลิตพระลอ ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อในพุทธศาสนา เช่น ความเชื่อในกฎแห่งกรรม
๓.๔ ขนบธรรมเนียมประเพณี วรรณคดีเรื่องนี้เป็นเรื่องทางภาคเหนือ จึงมีวัฒนธรรมประเพณีทางภาคเหนืออยู่มาก เช่น การขับซอยอยศและยังมีประเพณีการทำศพในสมัยโบราณ ดังเช่น การทำศพของพระลอ พระเพื่อนพระแพง เป็นต้น
๓.๕ คติธรรม ลิลิตพระลอให้คติธรรมในการดำเนินชีวิตหลายประการ เช่น กล่าวถึงธรรมะของผู้ใหญ่ ดังเช่นในร่ายว่า “อย่าให้ยากแก่ใจไพร่ ไต่ความเมืองจึงตรง ดำรงพิภพให้เย็น ดับเข็ญนอกเข็ญใน”
๔. ด้านอิทธิพลต่อวรรณคดีอื่น
๔.๑ ลิลิตพระลอเป็นตัวอย่างของการแต่งคำประพันธ์ในยุคหลัง กวียุคหลังถือโคลงในลิลิตพระลอเป็นแบบอย่างของการแต่งคำประพันธ์ที่ถูกต้องตามหลักฉันทลักษณ์ เช่น พระโหราธิบดี ได้นำโคลงไปไว้ในหนังสือจินดามณี ได้แก่ โคลง “เสียงฤาเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย” โคลงบางบทดีเด่นในเรื่องการเล่นสัมผัสอักษร การเดินทางของพระลอมีลีลาแบบนิราศ เช่นเดียวกับการเดินทางของพระมหาอุปราชในลิลิตตะเลงพ่าย มีลีลาเป็นนิราศเช่นเดียวกับลิลิตพระลอ และโคลงบางบทถือเป็นครูของวรรณคดียุคหลัง เช่น บุญเจ้าจอมโลกเลี้ยง โลกา (ลิลิตพระลอ) บุญเจ้าจอมภพพื้น แผ่นสยาม (ลิลิตตะเลงพ่าย) เล็บมือนางนี้ดั่ง เล็บนาง เรียมนา (ลิลิตพระลอ) เล็บมือนางนี้หนึ่ง นขา นางฤา (ลิลิตตะเลงพ่าย)
๔.๒ การสร้างสรรค์วรรณคดีอื่นและสิ่งบันเทิงใจด้านต่าง ๆ ลิลิตพระลอทำให้มีวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ เช่น บทละครเรื่องพระลอนรลักษณ์ ของสมเด็จพระวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ ในรัชกาลที่ ๓, บทละครเรื่องพระลอ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปพันธ์พงศ์ สำนวนหนึ่ง และบทละครเรื่องพระลอ ของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) อีกสำนวนหนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ทรงแปลพระลอเป็นบทละครภาษาอังกฤษ ชื่อ The Magic Lotus ส่วนทางภาคเหนือมีโคลงพระลอสอนโลก และซอเรื่องพระลอ (คำว่า “ซอ” เป็นบทลำนำของไทยภาคเหนือ) นอกจากนั้นยังมีภาพเขียน บทเพลง ภาพยนตร์ เกี่ยวกับเรื่องพระลออีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น